ข้อบังคับ

ข้อบังคับ สมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ ( Forestry Alumni Society) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

(ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2556)

หมวดที่ ๑

ความทั่วไป

               ข้อ ๑ สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์” มีอักษรย่อว่า

“ส.วน.” และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Forestry Alumni Society” ใช้อักษรย่อว่า “FAS”

ข้อ ๒ เครื่องหมายของสมาคมมีลักษณะเป็นรูปวงกลม ๒ วงซ้อนกัน วงกลมในล้อมรอบด้วยชื่อเต็มของสมาคมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ภายในวงกลมประกอบด้วยสัญลักษณ์ต้นไม้ ๑ ต้น และมีอักษรย่อของชื่อสมาคมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตามแบบที่กำหนดขึ้น

ข้อ ๓ สำนักงานใหญ่ของสมาคมตั้งอยู่ที่ เลขที่ ๕๐ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐

*1 ข้อ ๔ วัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อ

๔.๑ เป็นศูนย์กลางติดต่อและเชื่อมความสามัคคีระหว่างศิษย์เก่าวนศาสตร์ทั้งมวล

๔.๒ สร้างจิตสำนึกให้วนกรไทย มีวินัย มีอุดมการณ์ ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวนกรไทย

๔.๓ ยกย่องให้รางวัลหรือประกาศเกียรติคุณศิษย์เก่าวนศาสตร์ที่มีผลงานดีเด่น และบุคคลอื่นผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการป่าไม้

๔.๔ ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับป่าไม้

๔.๕ ให้ทุนการศึกษาทางด้านการป่าไม้แก่ผู้เรียนดี ประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

๔.๖ สนับสนุน ส่งเสริมการศึกษา การค้นคว้าวิจัยทางด้านการป่าไม้

๔.๗ ส่งเสริมการกุศลและสาธารณประโยชน์

๔.๘ ส่งเสริมการบันเทิง การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจ และการสวัสดิการของมวลสมาชิก

๔.๙ ผดุงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของบรรดาศิษย์เก่าวนศาสตร์และวิชาชีพการป่าไม้

๔.๑๐ ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยความเป็นกลาง และไม่ให้การสนับสนุนด้านการเงินหรือทรัพย์สินแก่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองใด

หมวดที่ ๒

สมาชิก

            ข้อ ๕ สมาชิกสมาคมมี ๓ ประเภท คือ

๕.๑ สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนป่าไม้

(พ.ศ.๒๔๗๙-๒๔๘๒) โรงเรียนวนศาสตร์ วิทยาลัยวนศาสตร์ และคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

๕.๒ สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งคณบดี ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาจารย์หรืออาจารย์พิเศษของคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

๕.๓ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการะคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม

ข้อ ๖ สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้

๖.๑ เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว

๖.๒ เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย

๖.๓ ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ

๖.๔ ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาทหรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดใน

กรณีดังกล่าวจะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น

ข้อ ๗ ค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมอื่นๆ

๗.๑ สมาชิกไม่ต้องเสียค่าสมัครเข้าเป็นสมาชิกและค่าบำรุงประจำปี

๗.๒ สมาคมอาจวางระเบียบเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทำบัตรสมาชิก หรือกิจกรรมอื่นได้ตามที่คณะกรรมการบริหารพิจารณาเห็นสมควร

ข้อ ๘ ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ ให้ยื่นใบสมัครตามแบบวิธีการของสมาคมต่อเลขาธิการสมาคมเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาการสมัครแล้ว ผลเป็นประการใดให้เลขาธิการแจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว

ข้อ ๙ สมาชิกภาพของสมาชิกสามัญ และสมาชิกวิสามัญให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการพิจารณาให้รับเป็นสมาชิก

ข้อ ๑๐ สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมได้มาถึงยังสมาคม

ข้อ ๑๑ สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

๑๑.๑ ตาย

๑๑.๒ ลาออก โดยยื่นเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย

ข้อ ๑๒ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

๑๒.๑ มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน

๑๒.๒ มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ

๑๒.๓ มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น

๑๒.๔ มีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคมในโอกาสอันสมควร

๑๒.๕ มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม

๑๒.๖ สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสมาคม และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมได้คนละ ๑ คะแนนเสียง

๑๒.๗ สมาชิกสามัญมีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม

๑๒.๘ สมาชิกสามัญมีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย ๕๐ คน ร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้

๑๒.๙ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด

๑๒.๑๐ มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม

๑๒.๑๑ มีหน้าที่ให้ความร่วมมือ และสนับสนุนการดำเนินการต่างๆของสมาคม

๑๒.๑๒ มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น

๑๒.๑๓ มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

หมวดที่ ๓

การดำเนินกิจการของสมาคม

            ข้อ ๑๓ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนอย่างน้อย ๑๕ คน อย่างมากไม่เกิน ๒๕ คน นายกสมาคม และกรรมการกึ่งหนึ่งได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ ส่วนกรรมการที่เหลืออีก

กึ่งหนึ่งให้นายกสมาคมเป็นผู้แต่งตั้ง สำหรับอุปนายก และกรรมการในตำแหน่งอื่นให้นายกสมาคมแต่งตั้งตามที่กำหนดไว้ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขป ดังนี้

๑๓.๑ นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และการประชุมใหญ่ของสมาคม

๑๓.๒ อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคม ปฏิบัติตามที่นายกสมาคมได้มอบหมาย และทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่

การทำหน้าที่นายกสมาคมให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน

๑๓.๓ เลขาธิการ ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการของสมาคม และทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่สมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆของสมาคม

๑๓.๔ เหรัญญิก ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดการทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีงบดุล และบัญชีทรัพย์สิน

ของสมาคม และเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และทรัพย์สินของสมาคมไว้เพื่อการตรวจสอบ

๑๓.๕ ปฏิคม ทำหน้าที่ในการต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคม และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆของสมาคม

๑๓.๖ นายทะเบียน ทำหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียน และประวัติของสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ประสานงานกับเหรัญญิกในการเก็บเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ ตามระเบียบที่สมาคมกำหนดขึ้น

๑๓.๗ ประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่เผยแพร่กิจการ และชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้แก่สมาชิก และบุคคลโดยทั่วไปเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

๑๓.๘ สาราณียกร มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำวารสารของสมาคมเพื่อเผยแพร่กิจกรรมของสมาคม

๑๓.๙ ฝ่ายหารายได้ มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการหารายได้ของสมาคมโดยไม่สร้างภาระหนี้สินผูกพันต่อสมาคม

๑๓.๑๐ ฝ่ายสวัสดิการ มีหน้าที่ในการจัดการหรือจัดหาสวัสดิการ และดำเนินกิจการอื่นๆ อันเป็นการสงเคราะห์ช่วยเหลือให้แก่สมาชิกของสมาคม

๑๓.11 กรรมการตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรให้มีขึ้นโดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้วจะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ให้ถือว่าเป็นกรรมการกลาง

ข้อ ๑๔ คณะกรรมการของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๒ ปี และเมื่อคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว ก็ให้คณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อน เมื่อได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่แล้ว ก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่

ข้อ ๑๕ ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระ ก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น

ข้อ ๑๖ กรรมการจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

๑๖.๑ ตาย

๑๖.๒ ลาออก

๑๖.๓ ขาดจากสมาชิกภาพ

๑๖.๔ ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง

ข้อ ๑๗ กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ให้ยื่นใบลาออกเป็นตัวหนังสือ และให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก

ข้อ ๑๘ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

๑๘.๑ มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติโดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับนี้

๑๘.๒ มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม

๑๘.๓ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง

๑๘.๔ มีอำนาจที่จะเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปีและประชุมใหญ่วิสามัญตามข้อบังคับของสมาคม

๑๘.๕ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

๑๘.๖ มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และเป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับกำหนดไว้

๑๘.๗ มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม

๑๘.๘ มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญตามที่สมาชิกสามัญได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ

๑๘.๙ มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สิน และการดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ

๑๘.๑๐ จดบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคมเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน

๑๘.๑๑ มีหน้าที่อื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ข้อ ๑๙ คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการสมาคม

ข้อ ๒๐ การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการการถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๒๑ ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเองเพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ ๔

การประชุมใหญ่

ข้อ ๒๒ การประชุมใหญ่ของสมาคมมี ๒ ชนิด คือ

๒๒.๑ ประชุมใหญ่สามัญประจำปี

๒๒.๒ ประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ ๒๓ คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีๆ ละ ๑ ครั้ง ไม่เกินเดือนมีนาคมของทุกปี

ข้อ ๒๔ การประชุมใหญ่วิสามัญอาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นสมควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกสามัญ ๕๐ คน ร้องขอต่อกรรมการให้จัดให้มีขึ้น

ข้อ ๒๕ การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ ให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๗ วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่

ข้อ ๒๖ การประชุมใหญ่สามัญประจำปีจะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้

๒๖.๑ แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี

๒๖.๒ แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกทราบ

๒๖.๓ เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เมื่อครบกำหนดตามวาระ

๒๖.๔ เลือกตั้งผู้สอบบัญชี

๒๖.๕ เรื่องอื่นๆ ถ้ามี

ข้อ ๒๗ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่า ๕๐ คน จึงถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีขึ้นภายใน ๑๔ วันนับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรกสำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้  ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม ยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิกก็ไม่ต้องจัดประชุมใหม่ ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก

ข้อ ๒๘ การลงมติต่างๆในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นๆ ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๒๙ ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุมหรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่

ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ ๕

การเงินและทรัพย์สิน

*2 ข้อ ๓๐ การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคมถ้ามี ให้นำฝากไว้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นๆตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

ข้อ ๓๑ การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้แทนพร้อมกับประทับตราเครื่องหมายของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้

ข้อ ๓๒ ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ และคณะกรรมการจะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

ข้อ ๓๓ ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดจองสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท(หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าเงินจำนวนนี้จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้

ข้อ ๓๔ เหรัญญิกจะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย บัญชีงบดุลและบัญชีทรัพย์สิน ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และการรับหรือจ่ายเงินทุกครั้งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทน ร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราเครื่องหมายของสมาคมทุกครั้ง

ข้อ ๓5 ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถจะเรียกกรรมการหรือเจ้าหน้าที่สมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ ๓6 คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชีเมื่อได้รับการร้องขอ

หมวดที่ ๖

การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ ๓7 ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุม

ไม่น้อยกว่า ๕๐ คน มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงข้อบังคับจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญที่เข้าประชุมทั้งหมด

ข้อ ๓8 การยกเลิกสมาคมจะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพระเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของสมาชิกสามัญที่เข้าประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่า ๓๐๐ คน

ข้อ 39 เมื่อสมาคมต้องเลิกไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม เงินและทรัพย์สินของสมาคมให้ตกเป็นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อใช้ในกิจการของคณะวนศาสตร์

หมวดที่ ๗

บทเฉพาะกาล

ข้อ 40 ข้อบังคับฉบับนี้ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป

ข้อ 41 เมื่อสมาคมนี้ได้รับอนุญาตและจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว ให้ถือว่าผู้เริ่มการเป็นกรรมการชุดแรกของสมาคม และให้มีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกสามัญเข้าร่วมเป็นกรรมการให้ครบตามข้อบังคับที่ได้กำหนดไว้

ข้อ 42 บรรดาสมาชิกสามัญที่ยื่นใบสมัครและชำระค่าบำรุงไว้แล้วตามข้อ ๗ ข้อ ๘ และข้อ ๙ ก่อนที่สมาคมนี้ได้รับอนุญาตและจดทะเบียนนิติบุคคล ให้ถือว่าเป็นสมาชิกสามัญตามข้อบังคับ

……………………………………………………………………

เหตุผล : การประกาศใช้ข้อบังคับนี้ เนื่องมาจากข้อบังคับสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับเพื่อให้การบริหารกิจการของสมาคมสามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องออกข้อบังคับฉบับนี้

หมายเหตุ

ข้อบังคับนี้แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ ๑) โดยมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๑ และได้รับจดทะเบียนการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ ตามมาตรา ๘๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ

พาณิชย์จากนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ (ทะเบียนเลขที่ จ.๒๑๕๑/๒๕๕๑)

(๑)   ข้อบังคับนี้แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ ๒) โดยมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๓ และได้รับจดทะเบียนการแก้ไขจากนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ (ทะเบียนเลขที่ จ.๒๑๕๑/๒๕๕๓)

(๒)ข้อบังคับนี้แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ ๓) โดยมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๖ และได้รับจดทะเบียนการแก้ไขจากนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน  ๒๕๕๖


*1 ข้อ ๔ แก้ไขโดยที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๓

*2 ข้อ ๓๐ แก้ไขโดยที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๓

Pin It on Pinterest